วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
บทความสุขภาพ

ภูมิแพ้ : เหตุใดคนเกือบครึ่งโลกจึงเป็นโรคนี้

นายมานิต คาวีวงศ์
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา


  • ข้อมูลจากทีมนักวิจัยจากสถาบันคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอนในอังกฤษ ระบุว่า แนวโน้มของผู้เป็นโรคภูมิแพ้ (Allergies) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาพบเห็นได้ชัดเจนในประเทศแถบตะวันตก และคาดว่าราว 40% ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคภูมิแพ้

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเหตุใดอัตราการเป็นโรคภูมิแพ้จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในไทยนั้น ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

     ภูมิแพ้ : เหตุใดคนสมัยนี้เป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น

ข้อมูลจากเว็บไซต์พบแพทย์ ระบุว่า ภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมที่ได้รับเข้ามา โดยการขับสารตัวกลางออกมาต้านสิ่งแปลกปลอม แต่สารตัวกลางจะก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้แก่ร่างกาย การเกิดโรคภูมิแพ้มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ต่อสารบางอย่างที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่เป็นอันตรายต่อตัวบุคคลที่แพ้ สารที่ร่างกายรับเข้ามาและกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” ก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย

เชื่อว่าโรคภูมิแพ้มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษในปัจจุบันก็เป็นปัจจัยเสริมทำให้อาการของโรคภูมิแพ้รุนแรงขึ้น

  • โรคภูมิแพ้รักษาไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคภูมิแพ้เป็นได้เกือบทุกวัย เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจว่าเป็นภูมิแพ้จริงหรือไม่

การรักษาโรคภูมิแพ้ปัจจุบันมี 3 วิธีคือ

  1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หากผู้ป่วยได้รับการทดสอบภูมิแพ้ และทราบว่าตัวเองแพ้อะไร การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้อาการดีขึ้น
    แต่หากไม่ได้ทดสอบภูมิแพ้ อาจใช้วิธีสังเกตว่า ได้รับสารอะไรแล้วมีอาการ ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
    นอกจากนี้ควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การทำความสะอาดบ้านเพื่อขจัดฝุ่นละออง การงดเลี้ยงสัตว์ที่ขนอาจกระตุ้นอาการแพ้ เช่น สุนัข แมว กระต่าย ฯลฯ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ อาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือแม้แต่ควันบุหรี่
  2. การใช้ยาเช่น ยารับประทาน ยาพ่นเข้าจมูก หรือยาสูดเข้าหลอดลม ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  3. การฉีดวัคซีนเป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยแพทย์จะทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด แล้วฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยค่อย ๆ ปรับภูมิต้านทานขึ้นทีละน้อย จนในที่สุดร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ได้ การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 3 – 5 ปี

สำหรับผู้ป่วยแพ้อาหารที่มีอาการรุนแรง

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้แล้ว แต่ยังมีอาการแพ้เนื่องจากได้รับอาหารที่แพ้เจือปนเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อย ๆ เช่น การแพ้แป้งสาลี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิด ได้แก่ ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารชุบแป้งทอด เป็นต้น ทำให้การหลีกเลี่ยงเป็นไปได้ยาก และมีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งบางครั้งต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้โดยตรง

อ้างอิงโดย : https://www.bbc.com/thai/features-47343941

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *