วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปดาราศาสตร์และอวกาศบทความ

สุริยวิถี

ภาพที่ 1 แกนของโลกเอียงขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์

(นายอนุกูล  เมฆสุทัศน์)
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

        สุริยวิถึ (Ecliptic) หมายถึงเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า  เกิดจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี โดยที่แกนของโลกเอียง 23.5° จากแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจร ในฤดูร้อนโลกหันขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ทำให้ซีกโลกเหนือกลายเป็นฤดูร้อน และซีกโลกใต้กลายเป็นฤดูหนาว หกเดือนต่อมาโลกโคจรไปอยู่อีกด้านหนึ่งของวงโคจร โลกหันขั้วใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ (แกนของโลกเอียง 23.5° คงที่ตลอดปี)  ทำให้ซีกโลกใต้กลายเป็นฤดูร้อน และซีกโลกเหนือกลายเป็นฤดูหนาว ดังแสดงในภาพที่ 1                                                                                    

ภาพที่ 2 ระนาบสุริยวิถีตัดกับระนาบศูนย์สูตรฟ้า

แกนของโลกเอียง 23.5° ขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ระนาบวงโคจรของโลก (สุริยวิถี) ทำมุมกับ ระนาบของเส้นศูนย์สูตรฟ้าเป็นมุม 23.5°  ดังแสดงในภาพที่ 2 เราเรียกจุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า “อีควินอกซ์” (Equinox) โดยจะมีอยู่ด้วยกันสองจุด  คือ “วสันตวิษุวัต” หรือ อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ผลิ (Vernal equinox)” ประมาณวันที่ 20 – 21 มีนาคม  และ “ศารทวิษุวัติ” หรือ อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ร่วง (Autumnal equinox)”  ประมาณวันที่ 22 – 23 กันยายนของทุกปี   เราเรียกตำแหน่งที่เส้นสุริยวิถีอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปทางขั้วฟ้าเหนือมากที่สุดว่า “ครีษมายัน” หรือ โซลสทิสฤดูร้อน (Summer solstice)  ประมาณวันที่  20 – 21 มิถุนายน   และเราเรียก ตำแหน่งที่เส้นสุริยวิถีอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้า ไปทางขั้วฟ้าใต้มากที่สุด  เรียกว่า “เหมายัน” หรือ โซลสทิสฤดูหนาว (Winter solstice)   ประมาณวันที่ 20 – 21 ธันวาคม

เมื่อมองดูจากประเทศไทย ซึ่งอยู่บนซีกโลกเหนือ เราจะมองเห็นเส้นทางขึ้น–ตก ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ในลักษณะเดียวกับภาพที่ 3 ดังนี้

  • วสันตวิษุวัต (อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ผลิ) ประมาณวันที่ 20 – 21 มีนาคม ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี  ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน พอย่างเข้าฤดูหนาว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปอยู่ในซีกฟ้าเหนือมากขึ้นใต้แต่ละวัน
  • ครีษมายัน (โซลสทิสฤดูร้อน) ประมาณวันที่  20 – 21 มิถุนายน ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือมากที่สุด ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้า ทำให้ซีกโลกเหนือกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปทางเส้นศูนย์สูตรฟ้า
  • ศารทวิษุวัต (อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ร่วง) ประมาณวันที่ 22 – 23 กันยายน ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีอีกครั้ง กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน  พอย่างเข้าฤดูหนาว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปอยู่ในซีกฟ้าใต้มากขึ้นในแต่ละวัน 
  • เหมายัน (โซลสทิสฤดูหนาว) ประมาณวันที่ 20 – 21 ธันวาคม ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศใต้มากที่สุด ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว ทำให้ซีกโลกเหนือกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่กลับมายังเส้นศูนย์สูตรฟ้าอีกครั้ง 
ภาพที่ 3 การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในรอบปี

อ้างอิง

http://www.lesa.biz/astronomy/celestial-sphere/ecliptic?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&s

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *