วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Latest:
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ความรู้ทั่วไปบทความสุขภาพ

การทิ้งและทำลายยาที่ถูกต้อง

(นายเดชา พูลสวัสดิ์)
นักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา

          ปัญหายาตกค้างในแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาป หรือพื้นดิน สามารถพบเจอได้ทั่วโลก ผลกระทบของยาตกค้างในธรรมชาติที่ชัดเจน คือ การทำลายระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในธรรมชาตินั้น ซึ่งสามารถส่งผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ต่อมายังมนุษย์ได้ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญของปัญหาดังกล่าว คือ การทิ้งและทำลายยาอย่างไม่ถูกวิธี ในอดีตเรามักจะได้ยินว่าการทิ้งยาสามารถทำได้โดยการบดยาให้เป็น  ผงและทิ้งลงถังขยะเพื่อนำไปฝังกลบหรือนำไปละลายน้ำและทิ้งลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ในปัจจุบันพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหายาตกค้างในแหล่งธรรมชาติอย่างชัดเจน เนื่องจากยาบางชนิดสามารถผ่านระบบบำบัดและเล็ดลอดสู่ธรรมชาติได้โดยไม่ถูกกำจัดทิ้ง สำหรับยาที่ถูกฝังกลบจะละลายออกมาจากพื้นดินลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้ต่อไป

          หากพิจารณาแล้ว ยา คือ สารเคมีทั่วไปที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรค ดังนั้น การกำจัดยาก็สามารถใช้หลักการการกำจัดของเสียสารเคมีซึ่งนิยมใช้การเผาที่อุณหภูมิสูงร่วมกับการฝังกลบอย่างถูกวิธี ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี กองแผนงานและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมจัดทำแนวปฏิบัติการจัดการของเสียทางการแพทย์ที่เป็นสารเคมี ซึ่งมุ่งเน้นไปยังของเสีย 3 ชนิดหลัก ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์              ของเสียที่เกิดจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และของเสียพวกเครื่องมือแพทย์ที่มีปริมาณโลหะหนักสูง แนวปฏิบัติดังกล่าวได้แนะนำการทำลายยาและเวชภัณฑ์ที่หมดอายุโดยการเผาทำลายทิ้งที่อุณหภูมิตั้งแต่ 850 ถึง 1,600 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่ใช้จะขึ้นกับประเภทและความเป็นอันตรายของยา หลังจากนั้นจึงค่อยนำกากของเสียหลังจากการเผาไหม้ไปฝังกลบอย่างถูกวิธี

แหล่งที่มา

อาจารย์ ดร.ภก.บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *